เศรษฐกิจพอเพียงของพ่อ

“...ฉันพูดเศรษฐกิจพอเพียงความหมายคือ ทำอะไรให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง คือทำจากรายได้ 200 - 300บาท ขึ้นไปเป็นสองหมื่น สามหมื่นบาท คนชอบเอาคำพูดของฉัน เศรษฐกิจพอเพียงไปพูดกันเลอะเทอะ เศรษฐกิจพอเพียง คือทำเป็น Self-Sufficiency มันไม่ใช่ความหมายไม่ใช่แบบที่ฉันคิด ที่ฉันคิดคือเป็น Self-Sufficiency of Economy เช่น ถ้าเขาต้องการดูทีวี ก็ควรให้เขามีดู ไม่ใช่ไปจำกัดเขาไม่ให้ซื้อทีวีดู เขาต้องการดูเพื่อความสนุกสนาน ในหมู่บ้านไกลๆ ที่ฉันไป เขามีทีวีดูแต่ใช้แบตเตอรี่ เขาไม่มีไฟฟ้า แต่ถ้า Sufficiency นั้น มีทีวีเขาฟุ่มเฟือย เปรียบเสมือนคนไม่มีสตางค์ไปตัดสูทใส่ และยังใส่เนคไทเวอร์ซาเช่ อันนี้ก็เกินไป...” 

พระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพล อดุลยเดชพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล ในวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๔

คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง”ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการสร้างความชอบธรรมให้กับหลายๆเหตุการณ์ทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ทั้งๆที่ ความจริงแล้วคำพูดดังกล่าวนั้น เป็นของคุณลุงท่านหนึ่ง ที่มีความปราถนาอยากจะเตือนสติของลูกๆหลานๆของท่านว่า เรากำลังหลงทางอยู่หรือเปล่า บางครั้งเราควรย้อนดูสิ่งที่เรามี สภาพแวดล้อมรอบตัวเราก่อนที่จะทำอะไรไปในสิ่งที่เกินความจำเป็นสำหรับชีวิตพวกเรา บางครั้งพวกเราอาจจะไม่ได้ต้องการรถคันที่สอง หรือคันที่สามที่กำลังแรงกว่านี้ พวกเราอาจจะไม่ได้ต้องการมือถือรุ่นใหม่ล่าสุดในเมื่อของเก่ายังใช้ได้อย่างนี้ น่าเสียดายที่หลายๆหน่วยงาน หรือบุคคลที่เข้าใจท่านผิดๆ และแนวความคิด “เศรษฐกิจพอเพียง”นี้ จึงยังไม่ก่อผลสัมฤทธิ์ต่อประเทศไทยอันเป็นที่รักของพวกเรานี้เท่าที่ควร
 

“ความพอประมาณ”

เมื่อพูดถึงความพอประมาณ บางคนอาจจะนึกถึงความประหยัด ความเขียม การไม่ใช้จ่ายใดๆ แต่ในความจริงแล้วนั้น ความพอประมาณคือแนวคิดที่ว่า เราผลิต เราบริโภค น้อยเกินไป หรือมากเกินไป หรือไม่ เราซื้อของที่ไม่ได้ใช้ ทำอาหารขึ้นมาเสียมากมายแล้วทานไม่หมด ซื้อกระเป๋าใบหรูหราที่ใส่ออกงานเพียงครั้งเดียวหรือไม่ ความพอประมาณจะเกิดขึ้นได้จะต้องคำนึงทั้งในด้านการผลิต และการบริโภค บนพื้นฐานของทรัพยากรต่างๆที่เรามีในมือ อย่างเช่น เงินทุน เวลา หรือ แรงกายต่างๆเป็นต้น เมื่อ การผลิต มากกว่า การบริโภค ส่วนเกินจะกลายเป็นทรัพยากรพื้นฐานใหม่เพื่อเติบโตในอนาคต ดังนั้น ความพอประมาณจึงไม่ได้หมายความถึงการตัดช่องน้อยแต่พอตัว แต่เป็นการผลิต การบริโภคแต่พอประมาณเพื่อการเติบใหญ่ที่ยั่งยืนจะถูกต้องมากกว่า
 

 “ความมีเหตุผล”

การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่างๆ ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ ความพอเพียงสำหรับแต่ละคนนั้นอาจจะไม่เท่ากัน เพราะแต่ละคนมีโครงสร้างชีวิตที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นขนาดครอบครัว หรือภาระทางสังคมที่มี ดังนั้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ความพอเพียงของเรานั้น เป็นความพอเพียงที่แท้จริง คำตอบคือ “ความมีเหตุผล” กล่าวง่ายๆคือ “คิด ก่อน ผลิต” หรือ “คิด ก่อน บริโภค” ทำไมเราต้องผลิตเท่านี้ หรือ ถ้าจะมองในแง่คนทำงานอย่างพวกเรา ทำไมเราต้องทำงานเท่านี้ (เป็นการลงทุนด้วยแรงกาย แรงใจ)การลงทุนแรงในหนึ่งชั่วโมงนี้ เราได้ผลลัพธ์คุ้มกับเวลาที่เสียไปหรือไม่ (ผลงานที่ได้) ในแง่การบริโภค ทำไมเราต้องบริโภคเท่านี้ การบริโภคเท่านี้ก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็นหรือไม่  หรือ ด้วยสภาพแวดล้อมอย่างปัจจุบันนี้ เราสามารถบริโภคเท่านี้ได้หรือไม่

“ภูมิคุ้มกัน”

การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

โลกเราทุกวันนี้ หมุนไปอย่างรวดเร็ว สถาพการณ์นั้นต่างกันไม่เหมือนก่อน“จงดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาท”คือคำสอนสุดท้ายที่พระพทธเจ้าตรัสไว้ก่อนปรินิพพาน “ภูมิคุ้มกัน”ในที่นี้ คือการเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เช่น อีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ เราจะยังเป็นอย่างเช่นทุกวันนี้ หรือไม่ อะไรจะทำให้เราสูญเสียความสามารถพึ่งตนเองได้ในอนาคต แม้ว่าคุณจะพอเพียงไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องหยุดนิ่ง ในขณะที่สองมือกำลังเคลื่อนไหว โสตประสาทก็ต้องเปิดรับข่าวสารไว้เสมอ เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะดี หรือ ไม่ดีก็ตาม   

ในการที่จะสามารถดำรงตนอย่างพอเพียง พึ่งพาตนเองได้นั้น มีสองเงื่อนไขที่จำเป็น

“เงื่อนไขความรู้”    ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในการปฏิบัติ
 

“เงื่อนไขคุณธรรม”    จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วย มีความตระหนักใน คุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

ทุกๆ วันที่เรากำลังทำงานอยู่นี้ การทำงานเป็นแค่ส่วนหนึ่งของวงจรชีวิตที่หมุนพาเราไปสู่เป้าหมายของแต่ละบุคคลในอนาคต จากแนวความคิดตามพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวนี้แล้ว จากวงจรเล็กๆที่มีตัวเราเองเป็นจุดศูนย์กลาง “ความพอเพียง” จะทำให้พวกเราเติบโตไปได้อย่างมั่นคง อาจจะไม่หวือหวา เหมือนต้นไม้ที่โดนเร่งปุ๋ย เร่งยานัก แต่ความมั่นคงในทุกย่างก้าวนี้ จะทำให้เราสามารถแบ่งปันความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจนี้ให้แก่สังคมรอบตัวเราจนสามารถผลักดันเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง

อ้างอิง:

มูลนิธิชัยพัฒนา "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง. สืบค้นจาก  http://www.chaipat.or.th  เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2016